ลิลิต หมายถึง หนังสือที่แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทโคลงและร่าย สลับกันเป็นช่วงๆ ตามธรรมเนียมแล้ว มักจะใช้โคลงและร่ายในแบบเดียวกัน กล่าวคือ โคลงดั้นสลับกับร่ายดั้น โคลงสุภาพสลับกับร่ายสุภาพ อย่างนี้เป็นต้น โคลงและร่ายที่สัมผัสนั้น มักจะร้อยสัมผัสเข้าด้วยกัน เรียกว่า "เข้าลิลิต"
วรรณคดีที่แต่งตามแบบแผนลิลิต มักจะใช้ร่ายและโคลง สลับกันเป็นช่วงๆ ตามจังหวะ ลีลา และท่วงทำนอง และความเหมาะสมของเนื้อหาในช่วงนั้นๆ
ลิลิตที่ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่า เป็นยอดของโคลงลิลิต คือ ลิลิตพระลอ
ลิลิตมี ๒ ชนิด คือ
๑.ลิลิตสุภาพ คือลิลิตที่ใช้ร่ายสุภาพ ร่ายโบราณ และโคลงสุภาพ หรือใช่ร่ายสุภาพ และโคลงสุภาพ สลับระคนกันอยู่ในเรื่องเดียวกัน เช่นตัวอย่างใน ลิลิตพระลอ , ลิลิตตะเลงพ่าย และ ลิลิตนิทราชาคริต
๒.ลิลิตดั้น คือลิลิตที่ใช้ร่ายดั้น และโคลงดั้นสลับระคนอยู่ในเรื่องเดียวกัน เช่น ตัวอย่างใน ลิลิตยวนพ่าย
ร่ายและโคลงที่ใช้ในลิลิตนั้น มีลักษณะเหมือนที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น เป็นแต่เพิ่มสัมผัสใน ระหว่างบทให้เกี่ยวข้องติดต่อกันตั้งแต่ต้นจนจบ คือให้คำสุดท้ายของบทสัมผัสกับคำที่ ๑ , คำที่ ๒ หรือ คำที่ ๓ วรรคต้นของบทต่อ ๆ ไป
ตอนขึ้นต้นที่เป็นคำนำหรือบทไหว้ครู กับบทสุดท้ายที่จะจบเรื่องควรแต่งเป็นร่าย ส่วนในระหว่างท้องเรื่องใช้โคลงกับร่ายสลับกัน ลักษณะเช่นนี้ถือว่าเป็นแบบลิลิตที่ถูกต้อง แต่บางทีในตอนจบ ท่านแต่งเป็นโคลงก็มี
โคลงนั้นใช้โคลง ๒ สุภาพ , โคลง ๓ สุภาพ หรือโคลง ๔ สุภาพ สุดแต่จะเห็นว่าเหมาะสมว่าตอนไหนควรจะใช้โคลงชนิดอะไร
ถ้าแต่งเป็นลิลิตสุภาพ ต้องใช้ร่ายสุภาพ หรือร่ายโบราณขึ้นต้น แล้วต่อไปใช้โคลงสุภาพกับร่ายสุภาพหรือร่ายโบราณสลับกัน ถ้าแต่งเป็นลิลิตดั้นก็ต้องใช้ร่ายดั้นขึ้นต้นแล้วต่อไปก็ใช้โคลงดั้นกับร่ายดั้นสลับกันไป
ถ้าเป็นโคลง ๔ ดั้น นอกจากใช้สัมผัสเกี่ยวกันระหว่างบทดังกล่าวแล้วแล้ว ยังต้องใช้คำสุดท้ายของโคลงบทต้นสัมผัสกับคำที่ ๓ หรือ คำที่ ๔ หรือคำที่ ๕ บาทที่ ๒ ของบทต่อไป ตามแบบและชนิดของโคลงดั้นอีกด้วย ( ดูแบบสัมผัสของโคลง ๔ ดั้น ) คือใช้โคลงดั้นชนิดไหนก็ต้องใช้สัมผัสตามแบบของโคลงดั้นชนิดนั้น
เพราะการแต่งลิลิตเป็นเรื่องยาว การหาคำสัมผัสจึงเป็นเรื่องยาก ถ้าใช้คำเหมือนกันบ่อยนักก็ไม่ไพเราะ เพราะฉนั้นท่านจึงอนุญาติให้ใช้คำ " อิศ " ประกอบข้างหลังศัพท์อื่นก็ได้ เพื่อให้พยางค์สุดท้ายของศัพท์นั้นมีเสียงเข้าสัมผัสก็ได้ตามที่ต้องการ