เรามุ่งมั่นที่จะรวบรวมหลักการประพันธ์ทั้งหลายไว้ ไม่ว่าจะเป็น โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย ลิลิต และกลบท นับแต่ครั้งโบราณมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อให้ลูกหลานและผู้ที่สนใจได้ศึกษา และดำรงคงไว้ให้คู่กับชาติไทยสืบไป

ร่าย

ร่าย เป็นชื่อของคำประพันธ์ ชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่กำหนดว่า จะต้องมีบท หรือบาท เท่านั้น เท่านี้ จะแต่งให้ยาว เท่าไรก็ได้ เป็นแต่ต้อง เรียงคำ ให้คล้องจองกัน ตามข้อบังคับ เท่านั้น ลักษณะบังคับต่างๆ ใช้อย่างเดียวกับ โคลง ๒ และโคลง ๓
คำร่าย "ร่าย" แปลว่า อ่าน เสก หรือ เดิน

ร่าย แบ่งออกเป็น ๔ ชนิด คือ
๑. ร่ายสุภาพ


ครั้นยางยินคำปู่
ปู่เอาลูกลมปักปลายยาง
ใบไม้ผันยะย้าย
กลกังหันคะคว้าง
ใจพระลออยู่บ่มิกลม
วางมือบัดเดี๋ยวคาย
คล้ายลุกตรงตระบัด
ลอบพิตรเจ้าช้าง


ปลายไม้ผายยะยัน
ลมพัดลูกลมผัน
ปั่นเพี้ยงลมผัน
(ลิลิตพระลอ)

๒. ร่ายดั้น


ศรีสวัสดิวัฒนวิวิธ
เฟื่องฟูภูมิมลฑล
รามนรินทร์ภิญโญยศ
ขานคุณทั่วทุกทิศ
ชวลิตโลกเลื่อง
สกลแผ่นภพ
ปรากฏกระเดื่อง
ขจรขจ่าง


สบพิสัยสยาม
เปรื่องปราญ์ปรีชาชาญ
ลือตระลอดฟ้าล้น    แหล่งธรา
(หลักภาษาไทย : พระยาอุปกิจศิลปสาร)

๓. ร่ายโบราณ


ชมข่าวสองพี่น้อง
ปันเสื้อผ้าสนอบ
ต้องหฤทัยจอมราช
ขอบใจสู่เอาข่าว
พระยาทให้รางวัล
มากล่าวต้องตัดใจ   บารนี
(ลิลิตพระลอ)

๔. ร่ายยาว
การแต่งร่ายยาว ต้องรู้จัก เลือกใช้ ถอยคำ และสัมผัสใน ให้มีจังหวะ รับกันสละสลวย เมื่ออ่านแล้ว ให้เกิด ความรู้สึก มีคลื่นเสียง เป็นจังหวะๆ อย่างที่เรียกว่า "เสียงดิ้น" หรือ "เสียงมีชีวิต" และจำนวนคำ ที่ใช้ ในวรรคหนึ่ง ก็ไม่ควรให้ยาว เกินกว่าช่วง ระยะหายใจ ครั้งหนึ่งๆ คือ ควรให้อ่าน ได้ตลอดวรรค แล้วหยุดหายใจได้ โดยไม่ขาดจังหวะ ดูตัวอย่างได้ ในหนังสือ เวสสันดรชาดก

ร่ายยาวนี้ ใช้แต่งเทศน์ หรือบทสวด ที่ต้องว่า เป็นทำนอง เช่น เทศน์มหาชาติ และเทศน์ธรรมวัตร เป็นต้น เมื่อจบความ ตอนหนึ่งๆ มักลงท้ายด้วย คำว่า นั้นแล นั้นเถิด นี้แล ฉะนี้แล ด้วยประการฉะนี้ คำนั้นแล นิยมใช้เมื่อ สุดกระแสความตอนหนึ่งๆ หรือจบเรื่อง เมื่อลง นั้นแล ครั้งหนึ่ง เรียกว่า "แหล่" หนึ่ง ซึ่งเรียกย่อ มาจากคำ นั้นแล นั่นเอง เพราะเวลาทำนอง จะได้ยินเสียง นั้นแล เป็น นั้นแหล่

ตัวอย่าง

โสโพธิสตฺโต   ส่วนสมเด็จพระบรมโพธิสัตว์   ตรัสได้ทรงฟังพระสุรเสียงแก้วกัณหา   เสียวพระกายาเย็นระย่อ   เศร้าสลดระทดท้อพระทัยเธอถอยหลัง   พระนาสิกอึดตั้งอัสสาสปัสสาส   น้ำพระเนตรเธอไหลหยาดหยดเป็นสายเลือด   ไม่เว้นวายหายเหือดซึ่งโศกา   จึงเอาพระปัญญาวินิจฉัยเข้ามาข่มโศก   ว่าบุตรวิโยคครั้งนี้บังเกิดมีเพราะความรัก   จำจะเอาอุเบกขาเข้ามาประหารหักให้เสื่อมหาย   ท้าวเธอก็กลับสุขเกษมเปรมสบายพระกายก็ใสสด   ดั่งพระจันทร์ทรงกรด   นั่นแล
(มหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์กุมาร)