กลอนขับร้อง ก็คือ กลอนสุภาพนั่นเอง แต่แต่งขึ้น สำหรับใช้ ขับรัอง หรือร้องส่ง เข้ากับ เครื่องดนตรี ปี่พาทย์ มีชื่อ และทำนองต่างๆ เช่น สมิงทอง, สามไม้, ปีนตลิ่ง, ชมตลาด, ลีลากระทุ่ม, เชิตนอก, นาคเกี้ยว, เทพทอง, พม่าเห่, เขมรไทรโยค เป็นต้น เหตุที่มีชื่อแตกต่างออกไป ก็เพราะมีทำนองร้องแตกต่างกัน แผนและกฎต่างๆ จงดูในตอน ที่ว่าด้วย กลอนสุภาพนั้นเถิด ส่วนทำนอง ต้องฝึกหัด กับผู้รู้ เป็นพิเศษ
กลอนตลาด คือกลอนผสม หรือกลอนคละ ไม่กำหนดคำตายตัว เหมือนกลอนสุภาพ ในกลอนบทหนึ่ง อาจมีวรรคละ ๗ คำบ้าง ๘ คำบ้าง ๙ คำบ้าง คือเอากลอนสุภาพ หลายชนิด มาผสมกัน นั่นเอง เป็นกลอนที่ นิยมใช้ ในการขับร้องแก้กัน ทั่วๆ ไป จึงเรียกว่า กลอนตลาด แบ่งออกเป็น ๔ ชนิด คือ
๑. กลอนเพลงยาว
กลอนเพลงยาวเป็นกลอนที่บังคับบทขึ้นต้นเพียง ๓ วรรค จัดเป็็นกลอนขึ้นต้นไม่เต็มบท ขึ้นต้นด้วยวรรครับในบทแรก ส่วนบทต่อๆไปคงมี ๔ วรรคตลอด สัมผัสเป็นแบบกลอนสุภาพ ไม่จำกัดความยาวในการแต่ง แต่นิยมจบด้วยบาทคู่ และต้องลงด้วยคำว่าเอย จำนวนคำในวรรคอยู่ระหว่าง ๗-๙ คำวัตถุประสงค์สำคัญของเพลงยาวคือใช้เป็นจดหมายโต้ตอบ ระหว่างชาย -หญิง เพลงยาวปรากฎขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ได้แก่เพลงยาวพระราชนิพนธ์ เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ ที่กล่าวกันว่าทรงนิพนธ์ให้แก่เจ้าฟ้าสังวาลย์โดยเหตุที่วัตถุประสงค์สำคัญของกลอนเพลงยาว คือใช้เป็นจดหมายรักและจบลงด้วยคำว่า"เอย"จึงเป็นที่มาของสำนวน "ลงเอย" ในภาษาไทยหมายถึงการตกลงปลงใจที่จะร่วมชีวิตคู่ ของ ชาย-หญิงส่วนชื่อ"เพลงยาว" น่าจะเกิดจากเนื้อความของจดหมายแต่ละฉบับที่มีขนาดยืดยาว หรืออีกประการหนึ่งอาจเกิดจากระยะเวลา ในการผูกสมัครรักใคร่ และโต้ตอบจดหมายกันจน"ลงเอย"ใช้เวลานานก็เป็นได้
อนึ่งอาจกล่าวได้ว่า "เพลงยาว"เป็นตัวการสำคัญข้อหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงไทยสมัยก่อนไม่มีโอกาสได้รับการศึกษา เพราะผู้ใหญ่ไม่ส่งเสริม เนื่องจากเกรงว่าเมื่ออ่านออกเขียนได้แล้วจะริ"เล่นเพลงยาว"และอาจก่อให้เกิดเรื่องราวเชิงชู้สาวให้เป็นที่เสื่อมเสียวงศ์ตระกูล
ที่มา สุภาพร มากแจ้ง.กวีนิพนธ์ไทย.สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์ ๒๕๓๕
เพลงยาว เป็นชื่อคำประพันธ์ประเภทกลอนชนิดหนึ่ง แต่งได้โดยไม่จำกัดความยาวและมีข้อบังคับทางฉันทลักษณ์เช่นเดียวกับกลอนแปด กล่าวคือ บทหนึ่งมี 4 วรรคและมีจำนวนคำในวรรคหนึ่งๆ ประมาณ 8-4 คำเป็นพื้น ลักษณะที่แตกต่างไปจากกลอนแปดทั่วไปคือ กลอนเพลงยาวต้องขึ้นต้นบทแรกด้วยวรรครับอันเป็น วรรคที่สอง แทนที่จะขึ้นด้วยวรรคสดับอันเป็นพรรคแรก และต้องลงท้ายบทด้วยคำว่า “เอย”
กลอนเพลงยาว มักจะหมายความถึงจดหมายรักที่ชายเขียนถึงหญิง มีเนื้อหาในเชิงเกี้ยวพาราสี ฝากรัก และตัดพ้อเมื่อไม่สมหวัง เพลงยาวในความเข้าใจของคนทั่วไปจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความรักเท่านั้น แต่ความเป็นจริงแล้วเนื้อหาของกลอนเพลงยาวไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับความรักเพียงอย่างเดียว แต่จะแต่งเกี่ยวกับเรื่อง ใดๆ ก็ได้ ดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงกล่าวไว้ในประชุมเพลงยาวฉบับหอสมุดแห่งชาติว่า
“หนังสือจำพวกที่เรียกว่า เพลงยาว คนทั้งหลายมักเข้าใจกันไปว่าเป็นหนังสือแต่งทางสังวาส แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ หนังสือกลอนแปดที่ไม่แต่งเป็นกำหนดเรื่องดังเรื่องนิทาน หรือกำหนดบทเช่นบทละคอน บทดอกสร้อยสักวาแล้ว เข้าในหมวดเพลงยาวทั้งนั้น เพลงยาวที่ว่าด้วยพยากรณ์ก็มี ว่าด้วยทัพศึกก็มี เป็นแต่มีผู้ชอบแต่งกันในทางสังวาสมาก จึงทำให้เข้าใจไปว่า กลอนเพลงยาวเป็นลักษณะบทกลอนสำหรับ การสังวาส”
ส่วนกำเนิดของกลอนเพลงยาวนั้น ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าเกิดขึ้นใน สมัยใด ทราบแต่เพียงว่านิยมแต่งกันมากในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ในสมัย พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ซึ่งเป็นยุคที่มีการแต่งเพลงยาวกันอย่างแพร่หลาย อย่างไรก็ตาม ก็มีข้อที่น่าสังเกตว่าคำประพันธ์ประเภทกลอนนั้นน่าจะมีกำเนิดมาก่อนสมัย กรุงศรีอยุธยาตอนปลายแล้วในลักษณะของวรรณคดีมุขปาฐะ เช่นเดียวกับเพลงพื้นบ้านอื่นๆ และกลอนเพลงยาวที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่ปรากฎ น่าจะได้เเก่กลอนเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นผลงานของพระโหราธิบดี โหรผู้มีความสามารถในการทำนายได้แม่นยำยิ่งนักในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และจะสังเกตได้ว่ากลอนเพลงยาวในระยะแรกนั้นจะไม่เคร่งครัดในฉันทลักษณ์ที่เป็นแบบแผนตายตัว จำนวนคำในเเต่ละวรรคมีได้ตั้งแต่ 6-15 คำ และจากการที่จำนวนคำในแต่ละวรรคไม่คงที่เช่นนี้ การรับส่งสัมผัสจึงมีลักษณะไม่คงที่ตามไปด้วย
ครั้นถึงสมัยรัตนโกสินทร์ กลอนเพลงยาวได้พัฒนาไปอย่างมากทั้งด้านรูปแบบและเนื้อหา อาจจะกล่าวได้ว่าสุนทรภู่เป็นผู้ที่ทำให้กลอนเพลงยาวมีรูปแบบ ฉันทลักษณ์ที่ชัดเจนขึ้น จากจำนวนคำที่ไม่แน่นอนมาเป็นการใช้คำ 8-9 คำ ในแต่ละวรรคอย่างสม่ำเสมอ มีการรับส่งสัมผัสระหว่างวรรคอย่างคงที่ รวมทั้งยังมีสัมผัสในอย่างสม่ำเสมอเพื่อเพิ่มความไพเราะยิ่งขึ้นด้วย และรูปแบบที่สุนทรภู่คิดขึ้นมีลักษณะเหมือนกลบทที่มีชื่อว่า “ทิพย์วารี” หรือ “มธุรสวาที” นี้ ก็ได้กลายเป็นต้นแบบของกลอนเพลงยาวในสมัยต่อมา ส่วนเนื้อหาของกลอนเพลงยาวในสมัยรัตนโกสินทร์ก็มีความหลากหลายมากขึ้น มีทั้งที่แต่งเป็นนิราศ เช่น กลอนเพลงยาว รบพม่าที่ท่าดินแดง พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งแม้จะไม่ใช่กลอนเพลงยาวที่แต่งเป็นนิราศเรื่องแรกของไทย เพราะแต่งหลังเพลงยาวของ หม่อมพิมเสนซึ่งมีลักษณะนิราศ เเละเชื่อกันว่าเป็นผลงานในสมัยอยุธยา แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของความนิยมนำกลอนเพลงยาวมาแต่งเป็นนิราศในสมัยรัตนโกสินทร์ ดังปรากฏในผลงานของสุนทรภู่ได้แก่ นิราศกลอนเพลงยาวต่างๆ เช่น นิราศ เมืองแกลง เป็นต้น
ที่มา : http://ilwc.aru.ac.th/Contents/SongThai/SongThai7.html
๒. กลอนนิราศ นิราศ หมายถึง งานประพันธ์ประเภทหนึ่ง ที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เท่าที่ปรากฎอยู่ในปัจจุบัน นิราศเรื่องแรกของไทยนั้น ได้แก่ โคลงหริภุญชัย ซึ่งแต่งในสมัยอยุธยา นิราศนั้น มักมีเนื้อหาในเชิงพรรณนาถึงการเดินทางเป็นหลัก มักจะเล่าถึงเส้นทาง การเดินทาง และบอกเล่าถึงสิ่งที่พบเห็นระหว่างการเดินทาง ขณะเดียวกัน มักจะสอดแทรกความคิด ความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทางนั้น โดยมักจะเชื่อมโยงสิ่งที่พบเห็นกับความรู้สึกภายใน ผู้แต่งนิราศ มักจะใช้คำประพันธ์แบบร้อยกรองเป็นหลัก แต่นิราศที่แต่งด้วยร้อยแก้วก็มีอยู่บ้างเช่นกัน อนึ่ง คำว่า นิราศ มีความหมายตามตัวอักษรว่า จาก พราก ไปจาก ฯลฯ แต่นิราศอาจหมายถึงงานประพันธ์ที่พรรณนาถึงเหตุการณ์ตามลำดับ พร้อมทั้งแสดงอารมณ์ความรู้สึกที่เชื่อมโยงกับเหตุการณ์นั้นๆ โดยมิได้มีการเดินทาง หรือการพลัดพรากก็ได้
วรรณกรรมประเภทนิราศมักจะมีความยาวไม่มาก พรรณนาถึงสิ่งสวยงาม และความรู้สึกผูกพันที่มีต่อบุคคลที่ตนรัก และเนื่องจากกวีส่วนใหญ่เป็นชาย เนื้อหาในนิราศจึงมักจะพรรณนาถึงหญิงที่ตนรัก กระทั่งกลายเป็นขนบของการแต่งนิราศมาจวบจนปัจจุบัน ที่ผู้แต่งนิราศ มักจะผูกเรื่องราวของการคร่ำครวญถึงหญิงที่รัก ขณะที่เล่าถึงสิ่งที่ได้พบเห็นระหว่างการเดินทางด้วย
คำประพันธ์ที่ใช้แต่งนิราศนั้นมีด้วยกันหลากหลาย ขึ้นกับความนิยมของกวีผู้แต่งนิราศเรื่องนั้นๆ ในสมัยอยุธยา มักจะมีนิราศคำโคลงมากกว่าอย่างอื่นๆ ส่วนนิราศคำฉันท์นั้นปรากฏน้อย เช่น นิราศษีดา และบุณโณวาทคำฉันท์ ขณะเดียวกันนิราศที่แต่งด้วยกาพย์ห่อโคลง เช่น กาพย์ห่อโคลงนิราศธารทองแดง กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก ในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา
สม้ยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ นิราศส่วนใหญ่ยังนิยมแต่งด้วยคำโคลงมากกว่าอย่างอื่น เช่น นิราศนรินทร์ ของนายนรินทรธิเบศร์ ทว่าในสมัยต่อๆ มา เริ่มมีความนิยมแต่งนิราศคำกลอนมากขึ้น โดยเฉพาะนิราศของสุนทรภู่ นั้นส่วนใหญ่แต่งด้วยกลอนแปด หรือกลอนเพลงยาว หรือกลอนตลาด สุดแต่จะเรียก และกล่าวได้ว่า สุนทรภู่ เป็นกวีที่แต่งนิราศคำกลอนไว้มากที่สุดด้วย (สุนทรภู่มีนิราศคำโคลงหนึ่งเรื่อง คือนิราศสุพรรณ)
อย่างไรก็ตาม นิราศยังสามารถแต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทอื่นๆ ได้ เช่น ลิลิต คำกาพย์ หรือแม้กระทั่งร้อยแก้ว สำหรับนิราศร้อยแก้วนั้น ปรากฏน้อยมาก เช่น นิราศนครวัด พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นต้น
นิราศเป็นการเรียกวรรณกรรมตามลักษณะของเนื้อหา มิใช่เป็นการบัญญัติหรือกำหนดกะเกณฑ์ ผู้อ่านจึงไม่ควรยึดถือเคร่งครัด ว่าวรรณกรรมเรื่องใดเป็นนิราศหรือไม่ เนื่องจากนิราศเรื่องหนึ่งๆ จึงอาจมีคุณสมบัติที่แตกต่างจากนิราศเรื่องอื่นๆ ก็ได้ เช่น เล่าถึงการเดินทาง แต่มิได้พรรณนาถึงการพลัดพราก เป็นต้น วรรณคดีบางเรื่องยังอาจระบุได้ไม่ถนัด ว่าเป็นนิราศหรือไม่ เช่น นิราศษีดา ที่นำเรื่องราวในรามเกียรติ์มาแต่งเป็นทำนองนิราศ ทว่าผู้แต่งมิได้มีประสบการณ์ร่วมในเนื้อหานั้นๆลิลิตพระลอ
ที่มา : http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A8
๓. กลอนนิยาย
กลอนนิทานหรือกลอนนิยาย ก็มีลักษณะเหมือนกลอนเพลงยาวนั่นเอง แต่แต่งเป็นเรื่องยืดยาว ทำนองนิยายหรือเทพนิยาย มีพระเอก นางเอก มีการรบทัพจับศึกและความอัศจรรย์ต่างๆ หรือจะแต่งนิยายอย่างนวนิยายสมัยใหม่ก็ได้ เนื้อเรื่องของกลอนนิทานเป็นเรื่องแต่งซึ่งอาจนำมาจากชาดก นิทานพื้นบ้าน หรือจินตนาการขึ้นเอง มีโครงเรื่อง ตัวละคร ฉากเหตุการณ์ กลอนนิทาน เป็นวรรณกรรม ที่มุ่งให้ความบันเทิงหรือแทรกคติสอนใจ เช่น พระอภัยมณี ลักษณวงศ์ โคบุตร จันทโครบ เป็นต้น จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องจักรๆวงศ์เป็นส่วนใหญ่
๔. กลอนเพลงปฏิพากย์
กลอนเพลงปฏิพากย์ เป็นกลอนที่ใช้ว่าแก้กันเป็นทำนองฝีปากโต้คารมบ้างเกี้ยวบ้าง เสี่ยงสัตย์อธิฐานบ้าง โดยมากเป็น กลอนสั้นๆ นับว่าเป็นสมบัติของชาติไทยโดยแท้ เพราะแพร่หลายในหมู่คนไทยโดยทั่วไป แม้ผู้ที่ไม่ได้รับการศึกษาก็สามารถว่าได้ และว่าเป็นกลอนสดเสียด้วย
กลอนเพลงปฏิพากย์ ยังแบ่งออกไปอีกหลายชนิด คือ
เพลงฉ่อย
เป็นเพลงพื้นเมืองที่ไม่ทราบถิ่นกำเนิด เป็นการละเล่นเพลงพื้นเมืองที่แพร่หลายมากที่สุดเพลงหนึ่ง มีคนร้องเล่นกันอย่างกว้างขวาง ไม่มีเครื่องดนตรีประกอบการร้องนั้น มีแต่การปรบมือเป็นการให้ประกอบจังหวะอย่างเดียว แต่ส่วนภายหลังเขาเอา "กรับ" มาตีด้วย การแต่งตัวนั้น ชายหญิงนุ่งผ้าโจงกระเบน ใส่เสื้อคอไทย คอกลมกระดุม 3 เม็ด มีผ้าขาวม้าเคียนพุง ส่วนหญิงใส่เสื้อสบาย ๆ แต่มีสไบเฉียง ทุกครั้งและขาดมิได้ เวลาเขียนคิ้วใช้ผงถ่านกากมะพร้าว
ประวัติ
เพลงฉ่อย มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า เพลงไอ้เป๋ เนื่องจากพ่อเพลงฉ่อย ยุคแรกชื่อ ตาเป๋ มี ยายมา เป็นภรรยา เริ่มแรกเพลงฉ่อย หรือ เพลงเป๋ เป็นที่นิยมในแถบ จังหวัดฉะเชิงเทรา และ จังหวัดใกล้เคียง ประมาณก่อนยุค พ.ศ. 2437 เป็นต้นมา ส่วนครูเพลงฉ่อย ยุคแรกเริ่มก็มี ครูเปลี่ยน - ครูเป๋ - ครูฉิม - ครูศรี - ครูบุญมา - ครูบุญมี ครูเพลงเหล่านี้มีแค่ชื่อ และ ตำนานส่วนประวัติไม่มีเลย เพลงฉ่อย นี้ปรับปรุงและดัดแปลงมาจาก เพลงโคราช - เพลงเรือ และเพลงปรบไก่ เป็นต้น ก็สาเหตุเนื่องจาก เวลาปรบมือเป็นจังหวะเพลงปรบไก่ ร้องบทไหว้ครูและเกริ่นอย่างเพลงโคราช ใช้กลอนก็ใช้คล้ายกับเพลงเรือ แต่อย่างไรเพลงฉ่อย ก็น่าจะอยู่ในยุคต้นสมัยรัชกาลที่ 5
เพลงโคราช หรือเพลงตะวันออก
เพลงโคราชจะเริ่มเล่นตั้งแต่เมื่อใด ไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด หลักฐานจากคำบอกเล่าต่อ ๆ กันมา มีเพียงว่า สมัยท้าวสุรนารี ( คุณย่าโม ) ยังมีชีวิตอยู่ ( พ.ศ. 2313 ถึง 2395 ) ท่นชอบเพลงโคราชมาก เรื่องราวของเพลงโคราชได้ปรากฏหลัดฐานชัดเจน คือในปี พ.ศ. 2456 ที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวง เสด็จมานครราชสีมาทรงเปิดถนนจอมสุรางค์ยาตร์ และเสด็จไปพิมาย ในโอกาสรับเสด็จครั้งนั้น หมอเพลงชายรุ่นเก่าชื่อเสียงโด่งดังมากชื่อนายหรี่ บ้านสวนข่า ได้มีโอกาสเล่นเพลงโคราชถวาย เพลงที่เล่นใช้เพลงหลัก เช่น กลอนเพลงที่ว่า ( สมเด็จพระพันปีหลวง ทรงเป้นผู้บังคับการพิเศษประจำกรมทหารม้านครราชสีมา จนถึง พ.ศ. 2462 เมื่อเสด็จนครราชสีมา นายหรี่ สวนข่า ก็มีโอกาสเล่นเพลงถวาย ) เพลงโคราชมีโอกาสเล่นถวายหน้าพระที่นั่งในงานชุมนุมลูกเสือครั้งที่ 1 ในนามการแสดงมหรสพของมณฑลนครราชสีมา เกี่ยวกับกำเนิดของเพลงโคราช มีทั้งที่เป็นคำเล่าและตำนานหลักฐานจากคำบอกเล่าของหมอเพลงอีกจำนวนหนึ่งเล่าต่อ ๆ กันมาว่า ในสมัยรัตนโกสินทร์มีสงครามระหว่างไทยกับเขมร เมื่อไทยชนะสงครามเขมรครั้งไร ชาวบ้านจะมีการเฉลิมฉลองชัยชนะ ด้วยการขับร้องและร่ายรำกันในหมู่สกที่เขาเรียกว่า " ซุมบ้านสก " ใกล้ ๆ กับชุมทางรถไฟ ถนนจิระและเริ่มเล่นเพลงโคราชกันที่หมู่บ้านนี้ ท่าทางการรำรุกรำถอย และการป้องหู มีผู้สันนิษฐานว่าประยุกต์มาจากการเล่นเจรียง ที่เป็นเพลงพื้นบ้านของชาวสุรินทร์ผสมผสาน กับเพลงทรงเครื่องของภาคกลาง
" ข้าพเจ้านายหรี่อยู่บุรีโคราชเป็นนักเลงเพลงหัด บ่าวพระยากำแหง ฯ เจ้าคุณเทศา ท่านตั้งให้เป็นขุนนาง .....ตำแหน่ง "
ความอีกตอนเอ่ยถึงการรับเสด็จว่า
" ได้สดับว่าจะรับเสด็จเพื่อเฉลิมพระเดชพระจอมแผ่นดิน โห่สามลา ฮาสามหลั่นเสียงสนั่น....ธานินทร์ "
ตำนานเพลงโคราช
เกี่ยวกับตำนานของเพลงโคราชนั้น ผู้รู้และหมอเพลงเล่าให้ฟังว่า มีนายพรานคนหนึ่งชื่อ เพชรน้อย ออกไปล่าสัตว์ ในเขตหนองบุนนาก บ้านหนองบุนนาก อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา คืนหนึ่งแกไปพบลูกสาวพญานาค ขึ้นมาจากหนองน้ำ มานั่งร้องเพลงคนเดียว พรานเพชรน้อยได้ยินเสียง จึงแอบเข้าไปฟังใกล้ ๆ แกประทับใจ ในความไพเราะ และเนื้อหาของเพลง จึงจำเนื้อและทำนองมาร้องให้คนอื่นฟัง ลักษณะเพลงที่ร้องเป็นเพลงก้อม หรือเพลงคู่สอง
อีกตำนานหนึ่งเล่าว่า ชาวโคราชได้เพลงโคราชมาจากอินเดีย โดยพระยาเข็มเพชรเป็นผู้นำมาพร้อมๆ กับลิเก และลำตัด โดยให้ลิเกอยู่กรุงเทพฯ ลำตัดอยู่ภาคกลาง และเพลงโคราชอยู่ที่นครราชสีมา เพลงโคราชระยะแรกๆ เป็นแบบเพลงก้อม คนที่เรียนรู้เพลงโคราช จากพระยาเข็มเพชร ชื่อตาจัน บ้านสก อยู่ "ซุมบ้านสก" ติดกับ สถานีรถไฟชุมทางถนนจิระ
ตำนานทั้งสองถึงเม้จะต่างกันในด้านกำเนิดแต่ตรงกันอย่างหนึ่งที่กล่าวว่าเพลงโคราชระยะแรกเล่นแบบเพลงก้อม "ก้อม" เป็นภาษาโคราชและภาษาอีสาน แปลว่า สั้น เพลงก้อมหมายถึง เพลงสั้น ๆ ว่าโต้ตอบกล่าวลอย ๆ ทั้งที่มีความหมายลึกซึ้ง หรือไม่มีความหมายเลยก็ได้
ประเภทของเพลงโคราช
การแบ่งประเภทของเพลงโคราชนั้น แบ่งได้หลายวิธี พอจะแยกกล่าวได้ดังนี้
1. แบ่งตามโอกาสที่จะเล่น ได้ 2 ประเภท
เพลงอาชีพ ได้แก่ เพลงโคราชที่เล่นเป็นอาชีพ มีการว่าจ้างเป็นเงินตามราคาที่กำหนด เพลงประเภทนี้จะเล่นในงานฉลองหรือสมโภชต่าง ๆ เช่น งานศพ งานบวชนาค ทอดกฐินงานประจำปี หรือเล่นแก้บน ผู้ประกอบอาชีพเพลงโคราชนี้เรียกว่า " หมอเพลง" การเล่นจะเล่นเป็นพิธีการ มีเวที การแต่งกายตามแบบของหมอเพลงและมีการยกครูเป็นต้น เพลงชาวบ้าน เพลงประเภทนี้ เป็นเพลงของชาวบ้านที่ร้องเล่นกันในยามว่างงานเพื่อความสนุกสนาน เช่น ในงานลงแขก ไถนา หรือเกี่ยวข้าว หรือพบปะพูดคุยกันในวงสุราชาวบ้านที่ว่าเพลงได้ จะว่าเพลงโต้ตอบกันเพื่อความสนุกสนาน ไม่มีพิธีรีตรอง ไม่ต้องสร้างเวทีหรือ " โรงเพลง " และไม่มีการแต่งกายแบบหมอเพลงอาชีพ
2. แบ่งตามวิวัฒนาการของเพลงโคราช ตั้งแต่ยุคแรกมาจนถึงยุคปัจจุบัน เริ่มตั้งแต่เพลงสั้น ๆ มาจนถึงเพลงยาว ๆ ที่ใช้เล่นกันในปัจจุบันนี้แบ่งได้ 5 ประเภท คือ
2.1 เพลงขัดอัน เป็นเพลงสั้น ๆ มีสัมผัสอยู่แห่งเดียว คือ ระหว่างวรรคที่ 1 กับวรรคที่ 2 เท่านั้น ส่วนวรรคที่ 3 และ 4 ไม่มีสัมผัส ( สัมผัสที่ใช้เป็นสัมผัสสระ ) เช่น
2.1.1 เอ้อเอ่อ....สะรุสะระ อีแม่กะทะขั่วถั่ว
เมิ้ดบุญผัวแล้ว เหมือนไข่ไก่ร่างรัง
2.1.2 เอ้อเอ่อ....สะรุสะระ อีแม่กะทะขั่วหมี่
รู้ว่ากินไม่เมิ้ด มึงจิขั่วมากทำไม
( ในข้อ 2.1.2 นี้ จะเห็นได้ว่ามีการเล่นอักษรเพิ่มเข้ามาแต่ยังไม่บังคับ ลักษณะนี้จะกลายเป็นสัมผัสบังคับในสมัยหลัง )
2.2 เพลงก้อม เป็นเพลงสั้น ๆ เช่นเดียวกับเพลงขัดอัน แต่เพิ่มสัมผัสในระหว่างวรรคที่ 3 และ 4 ซึ่งไม่มีในในเพลงขัดอัน เช่น
ทำกะต้องกะแต้ง อยู่เหมือนกะแต๋งคอกะติก
ขอให่พี่ซักหน่อย จะเอาไปฝากถ่วยน่ามพริก
2.3 เพลงหลัก เป็นเพลงที่เพิ่มจำนวนวรรคจาก 4 วรรคในเพลง 2 ประเภทต้นมาเป็น 6 วรรค เพลงประเภทนี้จะเห็นว่าการเริ่มใช้สัมผัสประเภทอักษรเด่นชัดขึ้นเช่น
2.3.1 อันคนเราทุกวัน เปรียบกันกะโคม
พอคนโห่ควันโหม ก็ลอยบนเวหา
พอเมิ้ดควันโคมคืน ก็ต๊กลงพื้นสุธา...ใหญ่
2.3.2 เกษาว่าผม แก่แล้วบานผี
เมื่อผมดำงามดี ก็ลับมาหายดำ
ไม่เป็นผลดีดอกผม จะไม่นิยมมันทำ...ไม
2.4 เพลงสมัยปัจจุบัน คือเพลงที่ใช้ร้องเล่นกันในปัจจุบัน มีขนาดยาวกว่าสมัยก่อน ๆ แต่ถ้าร้องจะร้องช้าบางทีจังหวะไม่สม่ำเสมอ ขึ้นอยู่กับผู้ร้อง ร้องช้าหรือร้องเร็วไม่สม่ำเสมอเช่น
โอ้โอ่
...... ประเทศของไทยเราถึงคราวแคบ มันต้องมีคนแอบดอกนาพี่เอย
.......คนแฝงเพลงโคราช สมัยเจริญจ้างเป็นเงินมาก็แพง .......เองจะว่ากันยังไงจะถูกใจคนฟังขอให้หนุ่มนำหน้าพอ
.......เหนื่อยมาจะนำนอน ถ้าเข่าใจครรไลจร ให้ชี่นิ่วนำทาง
.......อุปมาเหมือนยังพระ.....เดินนำเณร (ตบมือ)
สมัยวิวัฒน์พัฒนา เขาก้าวหน่ามิใช่น่อย
มาฉันจะเดินซ่อนรอย ขอแต่ให้พี่ชายนำ
ถ้ายังไม่จรจะนำไปถึงจุ๊ด ฉันคงไม่ยุ๊ดพยายาม
จะนำน้องเข่าไปเขาใหญ่ หรือดงพญา....เย็น
2.5 เพลงจังหวะรำ เพลงประเภทนี้ เป็นที่ใช้ร้องกันอยู่ในสมัยปัจจุบันเช่นเดียวกับที่กล่าวมาแล้วในข้อ 2.4 แตกต่างกันที่ตรงจังหวะรำนี้จะเล่นสัมผัสมาก และสม่ำเสมอ สามารถเคาะจังหวะตามได้ และขณะที่ร้อง ผู้ร้องจะรำขย่มตัวไปตามจังหวะเพลงด้วย โดยจะเริ่มรำเมื่อว่าไปแล้วประมาณ 4 วรรค เพราะใน 4 วรรคต้นนี้จังหวะยังไม่กระชั้นหรือคงที่ อาจช้าบ้างเร็วบ้าง จะรำด้วยก็ได้แต่เป็นการรำช้า ๆ ไปรำจังหวะเร็วที่วรรคที่ 5 - 8 เป็นการจบท่อนแรก พร้อมทั้งตบมือ 1 ครั้ง พอขึ้นท่อนที่ 2 จะร้องช้าลงเพื่อเตรียมจบหรือเตรียมลง การรำหลอกล่อกันระหว่างชายและหญิง คือถ้าฝ่ายชายร้อง ฝ่ายหญิงก็จะรำด้วย ถ้าฝ่ายหญิงร้องฝ่ายชายก็จะรำด้วย การรำจึงเป็นการรำทีละคู่
3. แบ่งตามลักษณะกลอน จะได้เป็น 5 ประเภทคือ เพลงคู่สอง เพลงคู่สี่ เพลงคู่แปด และเพลงคู่สิบสอง การแบ่งเช่นนี้ เป็นการกำหนดประเภทคล้ายแบบที่แบ่งตามวิวัฒนาการนั่นเอง คือเพลงคู่สองกับคู่สี่ เป็นเพลงก้อม ส่วนเพลงคู่หก กับคู่แปดเป็นเพลงที่ใช้ร้องกันในปัจจุบัน ซึ่งทั้งสองประเภทนี้ มีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย ในด้านจำนวนคำในวรรค ส่วนเพลงคู่สิบสองนั้นเป็นเพลงที่ดัดแปลง มาจากเพลงคู่แปด โดยเพิ่มจำนวนคำ ในวรรคมากขึ้น และร้องเร็วมาก จังหวะถี่ยังไม่แพร่หลายนักในปัจจุบัน เพราะหมอเพลงส่วนใหญ่ จะคิดคำไม่ทัน กับที่ต้องว่าเร็ว ๆ จึงปรากฎให้เห็น เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
4. แบ่งตามเนื้อหาของเพลง จะได้หลายชนิด เช่น เพลงเกริ่น เพลงเชิญ เพลงไหว้ครู เพลงถามข่าว เพลงชวน เพลงชมนกชมไม้ เพลงเกี้ยวเพลงเปรียบ เพลงสาบาน เพลงด่า เพลงคร่ำครวญ เพลงสู่ขอ เพลงเกี้ยวแกมจาก เพลงจาก เพลงลา เพลงพาหนี เพลงปลอบ เพลงไหว้พระ เพลงตัวเดียว เพลงเรื่อง ( นิทาน ) เป็นต้น
วิวัฒนาการของเพลงโคราชในด้านเนื้อหา
เนื้อหาของเพลงโคราชมีหลายรส ทั้งคำสั่งสอน คำด่า กระทบกระเทียบเปรียบเปรย และกล่าวเป็นนัยถึงเรื่องเพศ เป็นการใช้ภาษาเชิงสัญลักษณ์ และการใช้คำตรงๆ จนคนที่ไม่ชิน กับเพลงปฎิพากย์พื้นบ้าน ฟังไม่ได้ เพราะเห็นว่า หยาบโลนจนเกินไป ถ้าผู้ฟังเพลงชอบใจ จะโห่ฮิ้วแทนการปรบมือ เนื้อหาของเพลงโคราชเกี่ยวข้องกับสิ่งต่อไปนี้
1. สุภาษิต และคำสั่งสอน
2. เจตคติต่อสังคม
3. ความเชื่อถือและค่านิยม
4. ความเป็นอยู่ อาชีพ และสภาพสังคม
5. วรรคดีไทย
6. นิทานพื้นบ้านและนิทานชาดก
7. ประวัติศาสตร์และวีรสตรีไทย
8. การใช้ปฏิภาณไหวพริบในการพูดจาโต้ตอบกัน
9. ความรัก
10. ธรรมในพุทธศาสนา
เนื้อหาของเพลงโคราช ขึ้นอยู่กับโอกาสที่จะเล่น และบางครั้ง ก็แล้วแต่เจ้าภาพที่หาเพลงโคราชไปเล่น เป็นผู้กำหนดว่าจะให้เล่นเรื่องอะไร หมอเพลงโคราชรุ่นเก่า จะเน้นเรื่องการใช้ปฏิภาณไหวพริบ นิทานชาดก และเคร่งครัดมากในเรื่องสอนศีลธรรม หมอเพลงโคราชรุ่นใหม่ มักจะเล่นตามคำเรียกร้องของผู้ฟัง และบางคน ไม่เคร่งครัดในเรื่องศีลธรรมมากนัก มีข้อสังเกตุว่า วัดหลายแห่งในชนบทของนครราชสีมา เช่นที่อำเภอ พิมาย และอำเภอจักราช เวลาเทศน์มหาชาติ จะมีการแหล่ประกอบ เพลงแหล่เหล่านั้น จะต้องมีเพลงโคราชควบอยู่เสมอ
การเขียนกลอนเพลงโคราช
แม้จะทราบว่า คณะสัมผัสของเพลงโคราชเป็นอย่างไร แต่การเขียนกลอนหรือแต่งกลอน ไม่อาจกระทำได้ง่ายนัก การบรรจุคำลงตามคณะ ให้ถูกต้องสัมผัสบังคับได้นั้น ไม่ได้หมายความว่า จะสามารถร้องเป็นทำนองได้ เช่นเดียวกันกับที่ปรากฏในวรรณคดีบางประเภท โดยเฉพาะวรรณคดีการละคร ว่ามีกลอนบทละครบางเรื่อง ที่ไม่สามารถนำไปร้องหรือเล่นละครได้จริง เพราะแม้จะถูกต้องตามสัมผัสบังคับทุกประการ แต่ลีลาของกลอน ไม่สอดคล้องกับทำนองการร้อง
เพลงโคราชก็เช่นเดียวกัน ผู้ที่จะเขียนกลอนโคราชได้นั้น จะต้องเป็นผู้ที่รู้จักทำนองจังหวะ และลำนำของเพลงโคราชได้ว่าป็น อย่างไร ต้องจำได้แม่นว่า ลำนำทำนองและจังหวะ เป็นอย่างไรนั่นย่อมหมายถึงว่า ผู้ที่จะจดจำ ลำนำจังหวะและทำนองได้นั้น จะต้องเป็นผู้ที่เคยฝึกหัดร้องเพลงโคราชให้จำได้มาก ๆ หมั่นฝึกฝน จนรู้เสียงสูง เสียงต่ำ เสียงสั้น เสียงยาวและฟังจังหวะแม่นยำ หรือเคยชิน เมื่อได้สัมผัสกับกลอนเพลงบ่อย ๆ ก็จะจำได้ขึ้นใจ เมื่อจะแต่งกลอน หรือนึกกลอนใหม่ ก็ใช้คำไปตามทำนอง หรือจังหวะที่จำได้นั้นเป็นเกณฑ์ ดังนั้นแม้หมอเพลงโคราช จะไม่ได้เรียนหรือศึกษาเกี่ยวกับคณะสัมผัส หรือลักษณะกลอนเพลงโคราช ในภาคทฤษฎี แต่จากการท่องกลอนบ่อยๆ ฝึกหัดว่าเพลงด้วยความพยายาม ก็จะรู้ได้ว่า คำคล้องจองหรือสัมผัส และลีลาของเพลงเป็นอย่างไร ถ้าหากมีความรู้การใช้คำ หรือมีความรู้แตกฉานในด้านภาษา ก็จะสามารถหาคำ มาใส่ในกลอน ให้สามารถร้องเป็นเพลงได้ ครูเพลงทั่วไป จึงแต่งกลอนเพลงได ้ในลักษณะเขียนไปตามลีลานี้ หรือหมอเพลง ที่มีประสบการณ์พอสมควร จะสามารถด้นกลอนหรือว่ากลอนสดได้ทันที ส่วนที่ยังไม่ชำนาญ ใช้วิธีท่องจำกลอนเพลงให้ได้มากๆ จึงจะสามารถสังเกตได้ว่า หมอเพลงคนเดียวกัน ถ้าเขาเล่นต่างโอกาส ต่างสถานที่ มักจะมีเนื้อร้อง และทำนองซ้ำๆ กันอยู่มาก หรือสังเกตได้อีกว่าหมอเพลงหลาย ๆ คน ที่เรียนมา จากครูคนเดียวกัน ก็จะมีลีลาการร้อง ทำนอง จังหวะเพลงคล้ายคลึงกัน
สำหรับผู้ที่จะฝึกหัดเขียน หรือแต่งกลอนเพลงโคราช ก็จะต้องมีคุณสมบัติเช่นเดียวกันคือ ศึกษาส่วนประกอบต่างๆ ของเพลงโคราชให้เข้าใจ และต้องร้องเพลงโคราชได้ เมื่อเขียนมาแล้วก็ลองร้องดู ถ้าตรงไหนใช้เสียงผิดไป จากลีลาของเพลง ก็สามารถแก้ไข หรือปรับเข้ากับลีลานั้นได้
วิวัฒนาการของการเล่นเพลงโคราช
1. การฝึกเพลงโคราช
การฝึกเพลงโคราชนั้น ส่วนใหญ่ผู้มีใจรักในการที่จะเป็นหมอเพลงแล้ว มักไปฝากตัวเป็นศิษย์ กับครูเพลงโดยตรง มีบางรายที่บิดามารดาหรือผู้ปกครอง ต้องการให้ลูกเป็นหมอเพลงก็นำไปฝากกับครูเพลง และบางรายที่ครูเพลง เห็นว่ามีแววจะเป็นหมอเพลงที่ดี ก็มักจะขอตัวไปอยู่ด้วย ครูจะดูหน่วยก้านของผู้ที่จะเป็นศิษย์ ดูกิริยาท่าทาง เสียงและปฏิภาณ การทดสอบเพื่อรับเป็นลูกศิษย์ อาจทำได้โดย ให้ร้องว่าเพลงก้อมให้ฟัง ถ้าเห็นว่ามีแวว พอจะเป็นหมอเพลงได้ ก็รับไว้ ก่อนจะหัดต้องมีการยกครูก่อน
อุปกรณ์ที่จะใช้คือ
1. กรวย 6 กรวย ( ลักษณะเป็นกรวยก้นแหลม )
2. ดอกไม้ขาว 6 คู่
3. เทียน 6 เล่ม
4. ธูป 6 ดอก
5. ผ้าขาว 1 ผืน ยาวประมาณ 4 ศอก
6. เงิน 6 บาท บางครูก็ 12 บาท
เมื่อรับไว้เป็นศิษย์แล้ว ผู้ที่จะหัดเพลง ก็จะพักอยู่ที่บ้านครู ช่วยครูทำงานในตอนกลางวัน ตอนกลางคืนจะต่อเพลงกับครู ซึ่งเป็นการต่อเพลงแบบปากต่อปาก ไม่มีการเขียนหรือจดไว้ เพราะคนในสมัยก่อน มีผู้รู้หนังสือน้อย หมอเพลงที่มีชื่อเสียงมากในยุคก่อน บางคนไม่รู้หนังสือ การต่อกลอนในลักษณะนี้จะต่อกันคืนละ 1 กลอนเท่านั้น ศิษย์จะต้องท่องจนขึ้นใจ และต้องว่าให้ครูฟังในตอนเช้า ก่อนที่จะออกไปทำงานให้ครู ถ้าจำไม่ได ้ก็จะต้องต่อกันใหม่ในคืนต่อไป จนกว่าจะจำได้ นอกจากจะต่อกลอนแล้ว ครูยังให้ฝึกการเอื้อนทำนอง และออกเสียงตัวกล้ำ ร ล อีกด้วย
ศิษย์คนใดมีความจำดี มีปกิภาณ ก็อาจจะใช้เวลาเรียนไม่นาน 1 - 2 ปี ก็ออกเล่นได้ แต่บางคนเรียนช้า อาจใช้เวลาถึง 10 ปี เนื้อหาที่เรียนนั้น ถ้าเป็นผู้หญิง จะเรียนเฉพาะกลอนเพลง ถ้าผู้ชายจะเรียนคาถาอาคมด้วย ในสมัยก่อนพวกผู้ชาย ก่อนที่จะออกแสดง จะต้องทำพิธีเข้ากรรมในโบสถ์ เป็นเวลา 7 วัน กินข้าววันละ 7 ปั้น วันแรกต้องทำน้ำมนต์ไว้ดื่ม และต้องกินพริกไทพันเม็ด เพราะเชื่อว่าจะทำให้ปัญญาดีว่าเพลงออก ในระหว่างที่เข้ากรรม 7 วัน นี้ห้ามว่าเพลง เพราะทำให้กรรมแตก เรียกว่าถ้าใครกรรมแตก มักจะมีอันเป็นไป ผู้เข้ากรรม แต่ละคนจะมีไก่สีขาว เรียกว่าไก่ชี ไว้เสี่ยงทาย ในระหว่างที่เข้ากรรมไก่ของใครคึก เจ้าของไก่ มักจะเป็นหมอเพลงที่มีชื่อต่อไป ถ้าไก่ของใครหงอย เจ้าของมักจะไม่ประสบความสำเร็จในอาชีพหมอเพลง
2. ลักษณะเวทีเพลงโคราช
ในสมัยก่อนนั้น การเล่นเพลงโคราชไม่จำกัดสถานที่อาจเล่นบนบ้านหรือลานบ้านก็ได้ เพียงแต่นำครกตำข้าว (ครกซ้อมมือ) มาวางคว่ำลง แล้วหาถังตักน้ำวางไว้บนครกนั้น เพื่อให้หมอเพลงได้ดื่มแก้คอแห้ง ในยุคที่ยังไม่มีไฟฟ้าแสงสว่าง ชาวบ้านมักจะทำไต้ช้าง หรือไต้รุ่งให้แสงสว่างแทน ลักษณะของไต้ช้างหรือไต้รุ่ง ทำด้วยไม้ไผ่ยาวประมาณ 5 ศอก ปลายข้างหนึ่งจักด้วยมีด แผ่ออกสานด้วยไม้ไผ่เป็นรูปกระทะใส่ดินกรุ ใส่ชันผสมไม้ผุ ๆ หรือแกลบ จุดให้แสงสว่าง ปลายอีกข้างหนึ่งฝังดินใกล้ ๆ กับครก ต่อมาใช้ตะเกียงเจ้าพายุ หรือตะเกียงลาน จุดแทนไต้รุ่ง เวที ก็เปลี่ยนมาเป็นลำดับ คือ มีเสา 4 เสา ยกพื้นปูกระดาน สูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร หลังคามุงด้วยก้านมะพร้าว ที่กลางพื้นเวทีก็ยังมีถังใส่น้ำตั้งอยู่เช่นเดิม เมื่อก่อน ที่ยังไม่มีเครื่องขยายเสียงนั้น หมอเพลงต้องเสียงดัง พอที่จะฟังได้ยิน แต่ปัจจุบันสิ่งที่ช่วยให้แสงสว่าง ในการเล่นเพลงโคราชคือ ไฟฟ้าและมีเครื่อขยายเสียง ที่ดังกว่าเสียงหมอเพลงในครั้งก่อน ๆ เป็นประโยชน์ทั้งผู้ฟังและหมอเพลง
3. พิธีไหว้ครู
ก่อนขึ้นเวที หมอเพลงจะไหว้ครูก่อน เครื่องไหว้ครู ซึ่งเจ้าภาพเป็นผู้หามาให้ ประกอบด้วย ผ้าขาว 1 ผืน กรวยพระ 6 กรวย ดอกไม้ ธูป เทียน และเงินค่ายกครู 6 บาท สำหรับงานธรรมดา ส่วนงานศพ 12 บาท ผ้าขาวนั้นจะได้คืนจากหมอเพลง เมื่อเสร็จงานแล้ว หมอเพลงจะไหว้ครูทุกวัน โดยหัวหน้าที่ไป จะเป็นผู้นำไหว้ หลังจากแต่งตัวเสร็จก่อนขึ้นเวที การไหว้คร หมอเพลงจะไหว้บุพการี และบางคนก็ไหว้พญามารด้วย คือขอให้พญามาร ทำลายฝ่ายตรงข้ามให้ย่อยยับ จำกลอนไม่ได้ ในบทไหว้ครูก็ดูไม่จริงจัง และแทรกอารมณ์ขัน ไว้มาก
4. การแต่งกายของเพลงโคราช
การแต่งกายของหมอเพลงโคราชผู้ชายนั้น ส่วนใหญ่จะนุ่งผ้าโจงกระเบน ผ้าที่จะนำมานุ่งส่วนใหญ่ จะเป็นผ้าไหมหางกระรอก ซึ่งเป็นผลิตผลของชาวโคราชผลิตกันขึ้นมาเอง หรือบางทีก็ใช้ผ้าม่วงแทนก็มี เสื้อที่ใช้นั้น เป็นเสื้อคอกลม แขนสั้น สีไม่จำกัด มีผ้าขาวม้าคาดเอว ภาษาโคราชว่าใช้ผ้าขาวม้า "เคียนพุง" เครื่องประดับอื่น ๆ นอกจากนี้แล้ว ส่วนใหญ่ไม่มี หมอเพลงบางคนก็แขวนพระเครื่องบ้าง ส่วนการแต่งกาย ของฝ่ายหญิงนั้น นุ่งผ้าโจงกระเบน เหมือนหมอเพลงผู้ชาย ผ้าที่ใช้นุ่งก็เป็นผ้าไหมหางกระรอกหรือผ้าม่วง
เสื้อนิยมสวมเสื้อรัดรูป ไม่มีปก แขนสั้น ในสมัยก่อนนั้นผู้หญิงไม่สวมเสื้อ มีแต่ผ้ารัดอก และใช้ผ้าสะไบเฉียง พาดไหล่ นอกจากนี้บางคนนิยมใช้พลูจีบทัดหู ทั้งนี้เพราะผู้หญิงไม่รู้จักชายหูชายตา ครูเพลงเลยสอน ให้หัดชำเลืองดูพลูจีบที่ทัดหู
5. ท่ารำ
ท่ารำพอจะจำแนกออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
1. ท่ารำช้า ลักษณะการรำผู้ชาย จะกางแขนทั้งสองข้างออกพองาม มือแบออกรำขึ้นลงข้างต้น ส่วนขา ย่างตามจังหวะ ของกลอนเพลง สมัยก่อนผู้ชายจะวาดวงแขนกว้าง ผู้หญิงรำเหมือนฝ่ายชาย ต่างกันที่จีบมือ และวงแขนแคบ
2. ท่ารำเร็ว ฝ่ายชายจะรำเหมือนท่ารำช้า แต่เร่งจังหวะการรำให้เร็วขึ้นตามกลอนเพลง อีกทั้งต้องรำรุดหน้า เข้าหาฝ่ายหญิง ทำนองว่า จะเข้าไปถูกเนื้อต้องตัว ท่ารำเหมือนท่ารำช้า เมื่อฝ่ายชายรุกมา หญิงก็จะรำถอยหนี มือทั้งสอง ต้องคอยรำปัดป้อง มิให้ฝ่ายชายถูกเนื้อต้องตัวได้ แต่อย่างไรก็ตาม
มีข้อห้ามสำหรับหมอเพลง ฝ่ายชาย จะถูกเนื้อต้องตัวฝ่ายหญิงไม่ได้
ปรัชญาเบื้องหลังท่ารำ มีว่า การที่ผู้ชายวาดวงแขนกว้าง เป็นการแสดงการปกป้อง คุ้มครองฝ่ายหญิง ผู้หญิงวาดวงแขนแคบ แสดงการฉอเลาะ ตอนแรกชายจะรุกหญิงถอย และตอนหลังหญิงจะรุก ชายถอย แสดงว่าหญิงจะชนะทุกครั้ง ในเรื่องเพศ
6. ลำดับขั้นของการเล่นเพลงโคราช
การเล่นเพลงโคราชซึ่งกลอนเพลงมีชื่อเรียกตามเนื้อหาต่างๆ แต่พอจะสรุปการเล่นเป็นขั้น ๆ ได้ดังนี้
1. เพลงเกริ่น ฝ่ายชายจะขึ้นเวทีก่อน บอกเกริ่นให้รู้ถึงเหตุที่จัดให้มีการเล่นเพลงขึ้นเพื่ออะไร งานอะไร ใครเป็นเจ้าภาพ มีจุดประสงค์สิ่งไร ให้ผู้ที่มาฟังได้ทราบ และอาจมีการขออภัยผู้ชมก่อน ถ้าสุ้มเสียง หรือการแสดง บกพร่อง
2. เพลงเชิญ ฝ่ายชายจะต้องร้องเชิญให้ฝ่ายหญิงลงจากเรือนมาเพื่อว่าเพลงกับตน
เพลงตัดเชิญ ฝ่ายหญิงจะร้องแก้ว่าการที่ลงมาช้าเพราะเป็นผู้หญิงก็ต้องแต่งกายให้สวยงาม อาจล่าช้าไปปบ้างต้องขออภัย
3. เพลงถามข่าว ฝ่ายชายจะถามผู้หญิงว่า ชื่ออะไร บ้านอยู่ที่ไหน มีอาชีพอะไร
4. เพลงเปรียบ เป็นเพลงที่ทั้งสองฝ่ายกระทบกระเทียบเสียดสีซึ่งกันและกัน
5. เพลงไหว้ครู ร้องเพื่อระลึกถึงครู อาจารย์ซึ่งนำความรู้สั่งสอนมา ไหว้ทั้งคุณพระรัตนตรัย และพญามาร
6. เพลงปรึกษา หลังจากไหว้ครูแล้ว ก็จะปรึกษากันว่าจะเริ่มเล่นเรื่องอะไรก่อนดี
7. เพลงเกี้ยว เพลงเกี้ยวนี้มีหลายอย่าง ทั้งเกี้ยวธรรมดาและเกี้ยวหลอก ๆ
8. เพลงชวน เกี้ยวแล้วเมื่อชอบพอกัน ก็ชวนกันหนีหรือชวนไปชมนก ชมไม้
9. เพลงชมธรรมชาติ พรรณนาความงามของธรรมชาติ
10. เพลงเรื่อง เป็นเพลงที่เล่าเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น เรื่องเวสสันดร สุภมิต เกสินี เป็นต้น
11. เพลงลองปัญญา เป็นการซักถามประวัติของบางสิ่งบางอย่าง เพื่อทดสอบปัญญา
12. เพลงเกี้ยวแกมจาก ฝ่ายหญิงและชายสั่งลากันอวยชัยให้พรฝ่ายตรงกันข้ามบางทีก็ชวนไปอยู่ด้วยกัน
13. เพลงปลอบ เป็นเพลงที่บอกอย่าให้เสียอกเสียใจเมื่อลา
14. เพลงจาก เป็นเพลงที่บอกถึงความจำเป็นต้องจากลา
15. เพลงคร่ำครวญ แสดงถึงความรันทดในการพลัดพรากจากกัน
16. เพลงให้พร เป็นการให้พรเจ้าภาพ ผู้ดู รวมถึงหมอเพลงด้วยกัน
17. เพลงลา กล่าวลาเจ้าภาพ ผู้ดู และหมอเพลงที่ร่วมเล่นด้วยกัน
เพลงโคราชสมัยปัจจุบันอาจจะมีการแสดงอื่น ๆ เข้าแทรกเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศให้ผู้ฟังคลายความล้าจากการฟัง หรืออาจเป็นการแทรกเพื่อทำตามคำขอผู้ชมก็ได้ เช่นแทรกลำตัด เพลงฉ่อย หมอลำ เพลงลูกทุ่ง แหล่ ฯลฯ ในยุคก่อนนั้น จะมีการแทรกเพียงแหล่โคราชเท่านั้น แต่ต่อมา อาจจะเป็นเพราะอิทธิพลของการแสดงอื่น ๆ เข้ามามีบทบาทขึ้น จึงทำให้มีการผสมผสานทางด้านการแสดงกันมากขึ้น
7. ความเชื่อในการเล่นเพลงโคราช
ส่วนใหญ่หมอเพลงจะมีความเชื่อในเรื่องโชคลางพอสมควร เช่นในการก้าวขึ้นโรงเพลง จะมีการดูทิศ ตามฤกษ์รับ ก้าวแรกที่ขึ้น จะต้องเลือกดูตามทิศทาง โดยการหายใจ ถ้าข้างซ้ายคล่อง ก็ก้าวขาซ้ายขึ้น ทำนองเดียวกัน ถ้าข้างขวาหายใจสะดวก ก็ก้าวข้างขวาขึ้น เป็นต้น เมื่อขึ้นเวทีไปแล้ว ก็มีการเป่าคาถามหานิยม เพื่อให้ผู้ฟังชื่นชอบตนก็มี หมอเพลงบางคนเชื่อว่าหลังคาโรงเพลงนั้น ถ้าหากมีการมัดด้วยตอก หรือสิ่งอื่นใดจะทำให้คาถาอาคม สติปัญญาในการว่าเพลงเสื่อมลงไปด้วย ก็ขอร้องให้แก้มัดตอกออกก็มี
เพลงโคราขจากอดีตถึงปัจจุบัน
สมัยก่อนนั้น เพลงโคราชเป็นที่นิยมมาก เพราะการแสดงมหรสพ ที่เป็นหัวใจของงานฉลองสมโภชใด ๆ ก็ตาม มีเพลงโคราชเพียงอย่างเดียว คนฟังเพลงก็มีเวลามาก ฟังกันตั้งแต่หัวค่ำจนรุ่งเช้า เมื่อหมอเพลงเล่นเพลงลา คือลาผู้ฟังลาเจ้าภาพ และเพื่อนหมอเพลงด้วยกัน จะมีปี่พาทย์ ฆ้อง กลอง บรรเลงรับ หมอเพลงจะรำตามกัน ไปยังบ้านเจ้าภาพ เจ้าภาพก็นำเงินค่าหมอเพลงมาให้ พร้อมทั้งเลี้ยงข้าวปลา อาหาร และห่อข้าว ของกินต่าง ๆ ให้เป็นเสบียง ในการเดินทางกลับ คนฟังจะอยู่ร่วมฟังงาน จนเสร็จสิ้นกระบวนการ จึงทยอยกลับเช่นกัน
เพลงโคราชสมัยก่อน ได้ไปเล่นหลายจังหวัด เช่น บุรีรัมย์ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุรินทร์ ตลอดจนถึงประเทศกัมพูชา สำหรับจังหวัดต่าง ๆ ในภาคกลาง ก็ไปเล่นเป็นครั้งคราว ปัจจุบันค่านิยมของผู้ฟัง เปลี่ยนแปลงไปมาก แม้แต่ผู้ฟัง ในจังหวัดนครราชสีมาเอง ก็เสื่อมความนิยมลงมาก บ้างก็เห็นว่า เพลงโคราช เป็นเพลงหยาบคาย และไม่น่าสนใจ แม้ทางราชการส่งเสริม ให้นำออกแสดง ทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดนครราชสีมา ก็ต้องผ่านการตรวจ อย่างรัดกุม จะใช้ภาษาตรง ๆ เหมือนสมัยก่อนไม่ได้ถือว่าไม่เหมาะสม
ในการจัดงานฉลองสมโภชใดๆ มักจะมีมหรสพอื่นๆ เป็นคู่แข่งมากมาย เช่น ภาพยนตร์ มวย เพลงลูกทุ่ง ลิเก และรำวง เพลงโคราชจึงเป็นที่สนใจ สำหรับผู้ฟังรุ่นเก่าที่มีอายุค่อนข้างสูงแทบทั้งนั้น หมอเพลงโคราช ได้รวมตัวกัน เป็นคณะเพลงโคราช หลายคณะ และเข้ามาตั้งสำนักงานคณะ อยู่ในอำเภอเมืองเป็นส่วนใหญ่ เพื่อความสะดวก สำหรับมาติดต่อ หาเพลงไปเล่น หมอเพลงโคราช ต้องเล่นเพลงประยุกต์ ตามใจผู้ฟัง เช่น เล่นเพลงหมอลำ เล่นเพลงลำตัด และเพลงลูกทุ่ง พูดถึงท่ารำแตกต่างกันไป มีเพลงโคราชของคณะทองสุข กำปัง ที่ประยุกต์ เล่นแบบลำเพลิน คือนำเอาดนตรีสากล เข้ามาประกอบ แต่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก
การรวมตัวกันเป็นคณะเพลงโคราชปัจจุบันนั้น นางสองเมือง อินทรกำแหง เป็นผู้ริเริ่มตั้งขึ้นเป็นคนแรก เมื่อปี พ.ศ. 2499 ตั้งอยู่ที่ ถนนสุรนารายณ์และต่อมาก็มีคณะต่าง ๆ ตั้งขึ้นอีกหลายคณะ ข้อดีคือ ทำให้สะดวก ในการติดต่อจ้างไปเล่น ข้อไม่ดีคือ เมื่อหมอเพลงอยู่คณะเดียวกัน ก็รู้ชั้นเชิงและฝีปากกัน ทำให้ฟัง ไม่สนุกสนาน มีผู้พยายามจะรวมคณะเพลงโคราชต่าง ๆ ก่อตั้งเป็นสมาคมเพลงโคราช แต่ยังไม่ได้รับความร่วมมือ จากหมอเพลงเท่าที่ควร
จากความเชื่อที่ว่า ท่านท้าวสุรนารี ( คุณหญิงโม หรือ ย่าโมที่ชาวบ้านเรียกท่าน ) ชอบเพลงโคราช ในสมัยที่ท่านมีชีวิตอยู่ จึงมีผู้หาเพลงโคราชไปเล่นให้ท่านฟัง เป็นการแก้บน ณ บริเวณใกล้ ๆ กับอนุสาวรีย์ ในตอนกลางคืนเป็นประจำ อาจเป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้คนรุ่นใหม่ ได้รู้จักเพลงโคราช และหมอเพลงมีรายได้ประจำ แต่ก็มีผู้สนใจไปฟังไม่มากนัก
พูดถึงการดำเนินชีวิตของหมอเพลงรุ่นปัจจุบัน ส่วนใหญ่อาชีพทำนา และเล่นเพลงเป็นอาชีพรอง แต่หมอเพลง ที่มีชื่อเสียงเช่น ลอยชาย แพรกระโทก, ลำดวน จักราช, ทองสุข กำปัง, นกน้อย วังม่วง, รำไพ หัวรถไฟ ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า การประกอบอาชีพ ของหมอเพลงโคราชยังทำรายได้ดี ยังเป็นอาชีพที่มั่นคงอยู่ หมอเพลงดังกล่าวนี้ แม้จะประกอบอาชีพอื่น เช่น ทำนา ทำไร่ เป็นนักธุรกิจ แต่อาชีพหลักคือเล่นเพลงโคราช
ขอบคุณข้อมูลจาก
>>>http://www.koratinfo.com/samapi/koratsong/index.htm
>>>ของดีโคราช เล่มที่ 4 สาขาการกีฬาและนันทนาการ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏนครราชสีมา ,2538
เพลงเรือ
เพลงเรือ เป็นเพลงพื้นบ้านของชาวไทยภาคกลางที่อยู่ตามริมลำน้ำ เช่น สุพรรณบุรี อ่างทอง อยุธยา ฯลฯ นิยมเล่นกันในหน้านาประมาณเดือน ๑๑ - ๑๒ อุปกรณ์ในการเล่นเพลงเรือคือ เรือของพ่อเพลงลำหนึ่ง และเรือของแม่เพลงลำหนึ่ง เครื่องดนตรีมีกรับธรรมดาหรือกรับพวง และฉิ่ง ถ้าเล่นกลางคืนจะต้องมีตะเกียงไว้กลางลำเรือ เนื้อร้องทั้งสองฝ่ายมาพบกัน พ่อเพลงก็จะพายเรือเข้าไปเทียบเกาะเรือแม่เพลงไว้ แม่เพลงเริ่มด้วยเพลงปลอบ หรือเพลงเกริ่น บางคณะจะเริ่มด้วยบทไหว้าครูก่อน จากนั้นแม่เพลงก็จะร้องประโต้ตอบเรียกว่า บทประ แล้วต่อด้วยชุดลักหาพาหนี หรือนัดหมายสู่ขอ แล้วต่อด้วยเพลงชุดชิงชู้ และเพลงตีหมากผัว เมื่อเลิกก็จะมีเพลงจาก แสดงความอาลัยอาวรณ์
วิธีเล่น
การเล่นเพลงเรือหรือการขับเพลงให้ลงกับจังหวะพาย ผู้พายก็ต้องฟังเสียงเพลง ผู้ขับเพลงเรือหรือแม่เพลงต้องเป็นผู้มีปฏิภาณไหวพริบที่จะหาคำ หรือหยิบยกเอาเหตุการณ์สิ่งแวดล้อม เข้ามาสอดแทรกเข้าไปให้เหมาะสม อาจเป็นแข่งขัน ยกย่อง เสียดสีซึ่งทำให้ผู้ฟังสนุกไปด้วย ก่อน การเล่นเพลง ต้องมีการกล่าวกลอนไหว้ครูเสียก่อน จากนั้นจึงจะเอื้อนกลอนพรรณนาหรือชักชวนให้ คนอื่นมาเล่นด้วย โดยใช้วิธีว่ากลอนกระทบกระทั่งกระเช้าเย้าแหย่ จนคู่โต้มิอาจจะทนอยู่ได้ จึง เกิดการเล่นเพลงเรือโต้ตอบกันขึ้น การโต้ตอบกันด้วยเพลงเรือ บางทีก็เผ็ดร้อนใช้คารมที่คมคาย บางทีก็อาจเป็นทำนองรักหวานชื่น ทั้งนี้แล้วแต่โอกาสและสถานการณ์
ตัวอย่างเนื้อเพลงเรือ
เดือนสิบสองน่านน้ำ หลังทอดกฐินมี ระเบียงม่านนที สลับแนวกรรเชียงโน้น เพลงเรือเพลงเห่ร้อง ประหนึ่งขับปี่พาทย์ ประโคมร่ำราชบาตร ประดับแถวตีฆ้อง เรือครุฑนาคห่างพ้อง เสียงส่งดังกังวาน ขยับรับร้องผสาน จับจิตไพเราะจ้ำ ขับเสภารสล้วน จักยากหาฟังรู้ จักไทยแห่งเดียวดู จักอย่าลดค่าอ้า ประเพณีมิ่งแม้น เสริมส่งประชาตาม ธรรมเนียมรักขิตคาม จักชั่วสืบทอดล้วน | ประเพณี สืบโพ้น เรือท่อง กระบวน เทียบม้าฝั่งชล ชลมารค คู่ห้อง บอกสั่ง ร้องสั่นลั่นคลอง ประสาน ผ่องล้ำ กลมกล่อม เล่นร้องทำนอง เสนาะหู ทั่วหล้า จำจด จักฟ้าใต้ไทย เลิศงาม สืบถ้วน ขอบเขต สยาม ลูกไท้ไทยยล |
ขอบคุณที่มา : http://www.student.chula.ac.th/~49467529/boat.htm
เพลงชาวไร่
- กำลังอยู่ในระหว่างการเก็บรวบรวมข้อมูล
เพลงชาวนา
- กำลังอยู่ในระหว่างการเก็บรวบรวมข้อมูล
เพลงแห่นาค
- กำลังอยู่ในระหว่างการเก็บรวบรวมข้อมูล
เพลงพิษฐาน (อธิษฐาน)
เพลงพิษฐาน เป็นเพลงที่มักร้องเล่นในวันสงกรานต์นั้นถือเป็นวันดีขึ้นปีใหม่ของคนไทย คนไทยส่วนใหญ่มักจะทำในสิ่งที่ดี ซึ่งถือเป็นสิริมงคล สำหรับชาวบ้านเขาทอง อำเภอพยุหะคีรี ในตอนเช้าจะไปทำบุญที่วัด หลังจากทำบุญแล้ว จะเล่นเพลงพิษฐานกันก่อน เพื่อเป็นการเอาโชคเอาชัย ผู้เล่นเป็นชาวบ้านที่อยู่ในหมู่บ้านนั้น ส่วนใหญ่มีอาชีพทำนาทำไร่ แบ่งเป็นฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย จำนวนไม่จำกัด การแต่งกาย ฝ่ายชายนุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อคอกลม ผ้าขาวม้าคาดเอว ส่วนฝ่ายหญิงนุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อแขนกระบอก อุปกรณ์ในการเล่นคือ ดอกไม้ ธูปเทียน คนละ 1 กำ มักเล่นกันบริเวณหน้ามณฑป ซึ่งมีพระประธานอยู่ด้านใน
วิธีเล่น แบ่งผู้เล่นออกเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ต้องนั่งพับเพียบเป็นแถวต่อหน้าพระประธาน ทุกคนถือดอกไม้ธูปเทียนไว้ในมือ เริ่มเล่นโดยฝ่ายชายจะนำสวดบูชาพระรัตนตรัย เสร็จแล้วฝ่ายชายจะเป็นผู้ว่าเพลงก่อน มีลูกคู่ร้องรับ แล้วฝ่ายหญิงก็จะว่าเพลงแก้ มีลูกคู่ร้องรับ เช่นเดียวกัน ร้องสลับชายหญิงไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเห็นสมควรแก่เวลา เนื้อหาของเพลงเป็นการนำเอาชื่อดอกไม้มาร้องเป็นเพลง เปรียบให้ได้ดังสิ่งที่ตนเองหวังไว้ ซึ่งมีความคล้องในคำร้องให้สัมผัสกับคำอธิษฐาน
ตัวอย่างเพลงพิษฐาน
หญิง ตั้งจิตพิษฐานเอย มือหนึ่งถือพาน พานเจ้าดอกกระดังงา เกิดมาแต่ชาติใด ๆ ขอให้ได้เป็นลูกแม่ย่า
(ลูกคู่) พิษฐานบ้านแล่ ขอให้แน่ดังพิษฐาน
พิษฐานบ้านลง ขอให้ตรงดังพิษฐานเอย
ชาย ตั้งจิตพิษฐานเอย มือหนึ่งถือพาน พานเจ้าดอกกระดังงา เกิดมาแต่ชาติใด ๆ ขอให้ได้กับลูกแม่ย่า
(ลูกคู่) พิษฐานบ้านแล่ ขอให้แน่ดังพิษฐาน
พิษฐานบ้านลง ขอให้ตรงดังพิษฐานเอย
ขอบคุณที่มา : http://www.student.chula.ac.th/~49467529/pistan.htm
เพลงเกี่ยวข้าว
เพลงเกี่ยวข้าว เป็นเพลงที่สำหรับร้องกันในขณะลงแขกเกี่ยวข้าว อันเป็นอาชีพสำคัญของประชาชนชาวไทยอย่างหนึ่ง เพื่อให้ความสนุกสนานกับความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าในการงาน และเชื่อมความสามัคคีในระหว่างพื้นบ้านอาชีพเดียวกัน เพลงเกี่ยวข้าวจะเล่นกันในฤดูเกี่ยวข้าว จะเล่นกันเมื่อหยุดจากการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว เหมือนกับเพลงเต้นกำรำเคียว กล่าวคือ จะเล่นเพลงเกี่ยวข้าวก่อนที่จะเล่นเพลงเต้นกำรำเคียว และไม่มีกำหนดเวลาในการเล่น คือ เล่นกันจนเหนื่อยก็เลิก เนื้อความของเพลงมักจะเกี่ยวกับ การไต่ถามถึงการทำนาผสมผสานการเกี้ยวพาราสีกัน
เพลงเกี่ยวข้าว บางแห่งเรียก "เพลงกำ" เวลาแสดงมือหนึ่งถือเคียว อีกมือหนึ่งกำข้าวไว้ ย่ำเท้าใช้ลีลาไปตามจังหวะเพลง ใช้ตบมือให้จังหวะพร้อมๆ กัน บางครั้งใช้กลองและฉิ่งเข้าร่วมด้วย
วิธีเล่นแบ่งผู้เล่นออกเป็นฝ่ายชายและฝ่ายหญิง แต่ละฝ่ายจะถือเคียวมีพ่อเพลงและแม่เพลง ซึ่งจะมีกี่คนก็ได้ พ่อเพลงจะออกมาร้องก่อน แล้วฝ่ายหญิงก็ร้องตอบโต้ โดยขึ้นต้นว่า “เอ่อ เออ เอิ้ง เอ๊ย” ลูกคู่รับว่า “ฮ้าไฮ้” หรือ “โหยย เอ้า โหยย โหยย”
ตัวอย่างเพลงเกี่ยวข้าว
ผู้ร้อง นายดำ คงหอม นางพูล ภู่จำรูญ
นายธรรม หมีทอง นางละมัย แสนสุข
พ่อเพลง เอ่อ เออ เอิ้ง เอ๊ย เห็นหน้าเจ้าแม่ให้ชื่นใจ (ลูกคู่ ช. ฮ้า ไฮ้)
นี่แหละเป็นบุญวาสนา บุญกุศลนำ มา (ฮ้า ไฮ้) เอ๊ยชื่นใจ
ประสบพบพานมันหน้าจัดจริงหนอ ลูกแม่คุณมันหล่อ (ฮ้า ไฮ้) เชียวนี้กระไร
ช่วยนัดช่วยหนานาน เรามาเจอกันผู้สมัครเรารักมั่น (ฮ้า ไฮ้) ใช่ไหม
จะมีนัยเข้าไปถามเลยตอบ เจ้าตัวพี่ยังเข้าเป็นข้อ (ฮ้า ไฮ้) สงสัย
แม่คุณทูลหัวน้องมีผัวหรือยัง น้องจงบอกพี่บ้าง (ฮ้า ไฮ้) จะเป็นไร
โอ้แม่คุณแม่ขา โอ้ไม่น่าเป็นไร แม่คนสวยเหมือนนายเพลงเอย
ลูกคู่ (ช,ญ) เอ๊ย เอ้อ เจ้า เอ๋ย เพลงเอ๋ย
โอ้แม่คุณแม่ขาแม่ยาใจ (ซ้ำ)
แม่คนสวยเหมือนนายเพลงเอย
ลูกคู่ (ช) โหยย เอ้า โหยย โหยย
แม่เพลง เอ่อ เออ เอิ้ง เอ๊ย เห็นหน้าพ่อชู้ให้ชื่นใจ (ฮ้า ไฮ้)
ก็พี่มาถึงน้องยา ตั้งใจจะมาหาอะไร (ฮ้า ไฮ้) เอ๋ยอะไร
ว่าน้องก็เป็นม่าย ยังไม่ทันถึงปี ก็ลูกผัวยังไม่มี (ฮ้า ไฮ้) เอ๋ยเคียงกาย
น้องเป็นม่ายอย่าเพิ่งหมาย ไม่ได้นอนร่วมมุ้ง (ฮ้า ไฮ้) เอ๋ย ได้ง่ายๆ
ให้พี่ถอยหลังคืนนะเถอะพ่อชื่นใจ พ่อคนสวยเหมือนนางเพลงเอย
ลูกคู่ (ช,ญ) เอ๊ย เอ้อ เจ้า เอ๋ย เพลงเอ๋ย จะถอยหลังคืนนะพ่อชื่นใจ
ให้พี่ถอยหลังคืนนะพ่อชื่นใจพ่อคนสวยเหมือนนายเพลงเอย
ลูกคู่ (ช) โหยย เอ้าโหยย โหยย
ขอบคุณที่มา : http://www.student.chula.ac.th/~49467529/rice.htm
เพลงปรบไก่
เพลงปรบไก่ เป็นการละเล่นพื้นเมืองมาแต่โบราณ สันนิษฐานว่า จะเก่าแก่กว่าเพลงพื้นบ้านประเภทอื่น ๆ ของภาคกลางผู้เล่นร้องโต้ตอบกันโดยยืนเป็นวงกลม มักร้องหยาบๆ สามารถเล่นเป็นเรื่องได้ เช่น เรื่องขุนช้างขุนแผน ในสมัยโบราณคงถือว่ามีหลักเกณฑ์ดี จนนักปราชญ์ทางดุริยางคศิลป์ ได้นำคำรับลูกคู่ของเพลงปรบไก่ มาแปลงเป็นวิธีตะโพนที่เรียกว่า หน้าทับปรบไก่ ซึ่งต่อมาภายหลังได้ถอดออกมาเป็นวิธีตีเครื่องหนังอื่น ๆ อีกหลายอย่าง และหน้าทับปรบไก่นี้ก็เป็นหน้าทับสำคัญของการบรรเลงดนตรีไทยอย่างหนึ่ง คำรับลูกคู่ที่แปลงมาเป็น หน้าทับตะโพน คือ คำร้องว่า “ฉาด ช่า ฉ่า ช่า เอ๊ ชะ” แล้วมาแปลงเป็นเสียงตะโพน “พรึง ป๊ะ ตุ๊บ พรึง พรึง ตุ๊บ พรึง” ซึ่งเป็นหน้าทับปรบไก่ในอัตรา ๒ ชั้น
เพลงปรบไก่นิยมเล่นกันมากที่บ้านดอนข่อย ตำบลลาดโพ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี เป็นการละเล่นที่สืบทอดกันมาช้านานราว ๑๕๐ ปี ซึ่งเป็นการละเล่นที่เล่นกันมาแต่ครั้งกรุงเก่าครั้งเสียกรุงครั้งที่ ๒ แล้ว การละเล่นเพลงปรบไก้บ้านดอนข่อยนั้นจะเล่นเป็นประจำทุกปี ในวันเพ็ญเดือน ๖ เพื่อบวงสรวงศาลประจำหมู่บ้านและทำพิธีขอฝน ในงานบวงสรวงศาลเจ้าพ่อปู่ พิธีบวงสรวงและขอฝนจะเริ่มตั้งแต่เช้า มีการทำบุญเลี้ยงพระเมื่อเสร็จพิธีเลี้ยงพระราว ๑๐.๐๐ น. จึงเล่นเพลงปรบไก่ไปจนถึงเย็น ชาวบ้านดอนข่อยไร่คาวังบัวที่โยกย้ายไปอยู่ถิ่นอื่นจะกลับมาร่วมพิธีบวงสรวงศาลทุกปี เพราะเชื่อกันว่าถ้าใครไม่กลับมาบูชาตนเองและสมาชิกในครอบครัวจะประสบเหตุร้ายหรือเจ็บไข้ได้ป่วยทั้งยังเชื่อว่าความทุกข์ร้อนต่างๆที่เกิดขึ้นกับคนในหมู่บ้าน ตลอดจนโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เมื่อขอความช่วยเหลือจากหลวงพ่อปู่แล้วจะช่วยขจัดปัดเป่าความทุกข์ร้อนทั้งหลายให้สิ้นไป ดังนั้นเมื่อผู้ใดเดือดร้อนจึงมักบนบานหลวงพ่อปู่เสมอและเมื่อพ้นทุกข์แล้วก็จะแก้บนด้วยการเล่นเพลงปรบไก่
องค์ประกอบของการละเล่นเพลงปรบไก่ จังหวัดเพชรบุรี
๑. สถานที่สำหรับการเล่นเพลงปรบไก่ สถานที่แต่เดิมแสดงหน้าศาลหลวงพ่อปู่ต่อมาได้มีผู้หาไปเล่นในงานต่างๆเช่น งานแก้บน
๒. วิธีเล่นเพลงปรบไก่ แบ่งผู้เล่นออกเป็น ๒ ฝ่าย เป็นชายและหญิง แต่ละฝ่ายจะมีพ่อเพลงแม่เพลงฝ่ายละ ๑ คนมีลูกคู่อีกประมาณฝ่ายละ ๔ คน วิธีเล่นมีขั้นตอนดังนี้
๒.๑ บทเบิกบาน หรือบทสัคเค เป็นการเชิญเทวดาเชิญเจ้าต่างๆ รวมทั้งหลวงพ่อปู่ให้มาสถิตในสถานที่นั้นเพื่อเป็นสวัสดิมงคลแก่สถานที่นั้น
๒.๒ บทไหว้ครู เป็นการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พ่อแม่ครูอาจารย์และผู้มีพระคุณเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้เล่นการไหว้ครุมี ๓ ลักษณะดังนี้
· การไหว้ครูที่ศาลประจำหมู่บ้าน
· การไหว้ครูแก่บน
· การไหว้ครูบนเวทีการแสดง
๒.๓ บทสาธุการ การว่าบทสาธุการนั้นเนื้อร้องมีลักษณะคล้ายกับบทไหว้ครูคือเป็นการระลึกถึงผู้มีพระคุณต่างกันที่วิธีการแสดง
๒.๔ รำส่งหรือติดวง เมื่อว่าบทสาธุการจบแล้วผู้เล่นทุกคนลุกขึ้นเดินรำเป็นวงกลม พร้อมทั้งร้องเพลงปรบไก่ไปด้วย การรำส่งนี้เป็นการรำขั้นระหว่างบททุกครั้ง
๒.๕ บทเกริ่นพ่อเพลงจะเดินออกจากวงไปหาแม่เพลงร้องเชิญฝ่ายหญิงให้ออกมาร้องเพลงปรบไก่กัน เมื่อว่าบทเกริ่นจบผู้เล่นจะรำส่ง
๒.๖ บทประหรือตับ เป็นการร้องโต้ตอบเชิงเกี้ยวพาราสี ของฝ่ายชายและหญิงจะเริ่มที่พ่อเพลงก่อน จะเดินรำออกไปหาฝ่ายหญิงที่ตนชอบเมื่อว่าบทจบ จะกลับมาที่เดิม ฝ่ายชายและหญิงที่ยืนอยู่รอบวงก็จะยืนอยู่กับที่ร้องรับเป็นลูกคู่พร้อมทั้งปรบมือเป็นจังหวะ
๒.๗ บทตับเกร็ด เป็นบทที่ใช้ฝีปากโต้ตอบหรือปะคารมกันได้อย่างเต็มที่ จะโต้ตอบกันอย่างเผ็ดร้อนในเรื่อง ๒ แง่ ๒ ง่าม กระบวนกลอนจะเป็นไปในทำนองเชิงเกี้ยวพาราสีมักจะมีเรื่องเพศประกอบ
๒.๘ บทจับเรื่องหรือขึ้นตับเป็นบทที่เล่นเป็นเรื่องเป็นราว ฝ่ายชายและหญิงเป็นตัวละครตามเนื้อเรื่อง เรื่องที่นิยมเล่นคือเรื่องไกรทอง และเรื่อสุวิญชา
๒.๙ บทลา เป็นบทสุดท้ายของการแสดงผู้แสดงทั้งหมดจะนั่งพับเพียบประนมมือและร้องเพลงปรบไก่เนื้อร้องจะเป็นการอวยชัยให้พรผู้ชม และลาผู้ชมกลับบ้าน
๓. การแต่งกายฝ่ายชายนุ่งโจงกระเบนผ้าพื้นสีสดสวมเสื้อสีหรือผ้าดอกลายสวยงามมีผ้าขาวม้าขาดเอวหรือไหล่ ห้อยปลายทั้ง ๒ ข้างไว้ด้านหน้า ฝ่ายหญิงนุ่งโจงกระเบนลายสวมเสื้อคอกลมคอเหลี่ยมแขนสั้นเหนือศอกห่มสไบทิ้งชายหรือผูกชายห้อยข้างเอว
๔. เครื่องคนตรี ประกอบด้วย ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงเล็ก ฆ้องวงใหญ่ ตะโพน ปี่ กลอง ฉิ่ง ในการบรรเลงประกอบการเล่นเพลงปรบไก่นั้นคนตรีจะบรรเลงในขณะที่มีการร้องและการรำในช่วงที่มีการร้องดนตรีจะบรรเลงเบาๆ และจะบรรเลงดังในช่วงที่ผู้เล่นรำ
ตัวอย่างบางตอน ซึ่งเป็นบทร้องของ นางเหม อินทร์สวาท นายภู่ ขำเปล่ง นางจำรัส ตำบลเนินพระปรางค์ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ขับร้องไว้เมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๒๑ ดังนี้
นางเหม นายภู่ | เล่นเพลงปรบไก่ อัฐเฟื้องก็ไม่ถึง เราจะเล่นทำไม ตามประดามานั่งกันนี่ ให้แมงวันมันเข้าไปตาย ไอ้นั่นไม่มี มีแต่...... | สีจนหัวไหล่มันยอก อัฐสลึงไม่ออก ให้หัวไหล่มันยอก (รับ) พวกอี......เอ่ยเน่า (ซ้ำ) เป็นสองกระบายตวงข้าว ........ |
ขอบคุณที่มา : http://www.student.chula.ac.th/~49467529/chicken.htm
เพลงพวงมาลัย
เพลงพวงมาลัย นิยมเล่นในงานนักขัตฤกษ์งานมงคล เช่น บวชนาค ทอดกฐิน และลอยกระทง เป็นต้น แต่เดิมมักจะร้องเล่นควบคู่กับการเล่นกีฬาพื้นเมือง คือ ช่วงชัย หรือการเล่นลูกช่วง นั่นเอง ผู้ที่ถูกปาด้วยลูกช่วงจะต้องรำ ขณะที่ผู้ถูกปารำนั้น ผู้ที่ยืนล้อมอยฏู่จะร้องเพลงพวงมาลัย ถ้าฝ่ายหญิงรำฝ่ายชายจะร้องเพลงเกี้ยว ถ้าฝ่ายชายรำ ฝ่ายหญิงจะร้องเพลงว่าต่าง ๆ นานา บางทีก็จะร้องโต้ตอบไต่ถามบ้านช่องซึ่งกันและกัน การร้องเพลงพวงมาลัยเล่นได้ทั้งบนบกและในเรือ
วิธีเล่นและวิธีร้อง ชายหญิงตั้งวงกลมมีพ่อเพลงและแม่เพลงข้างละคน นอกนั้นเป็นลูกคู่มีหน้าที่คอยรับและปรบมือให้จังหวะพร้อมกัน คำร้องเป็นการเกี้ยวพาราสีเป็นกลอนสดว่าแก้กัน ฝ่ายใดร้องก็ต้องมารำกลางวง การรับผิดกับเพลงฉ่อย คือลูกคู่รับเฉพาะวรรคต้นกับวรรคท้ายตอนจบเท่านั้น การขึ้นเพลงมักขึ้นว่า "เอ้อระเหย"
ปัจจุบันการเล่นบนเวทีจัดเป็นสองฝ่าย ชาย - หญิง ว่าแก้กันเป็นคู่การร้องเป็นการร้องเป็นท่อนยาว ๆ หลาย ๆ ท่อน หรือเป็น ท่อนสั้น ๆ เรียกว่า เพลง"พวงมาลัยหล่น" บางครั้งใช้กลองประกอบ บางครั้งก็ใช้แต่เสียงปรบมือ
เพลงพวงมาลัย มีประโยชน์ ดังนี้
๑. สร้างความบันเทิงสนุกสนาน เพลิดเพลิน เพราะมักเป็นเรื่องเกี้ยวพาราสีปะทะคารมระหว่าง ฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย ซึ่งเรียกเสียงฮาจากผู้ฟังได้ เพราะมีจังหวะสนุก ฟังแล้วคึกคัก สนุกสนาน
๒. ช่วยกระจายข่าวสารหรือประชาสัมพันธ์เรื่องราวต่างๆ ในชุมชน
๓. ให้ความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม ได้แก่การดำเนินชีวิต ค่านิยมต่างๆ ในสังคม หรือ ความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ทั้งส่วนที่เป็นพุทธประวัติ และส่วนที่เป็นหลักธรรมะ
๔. สร้างความสามัคคี ทำให้มีกิจกรรมร่วมกันได้
๕. บันทึกเหตุการณ์ เล่าประวัติศาสตร์ และวิพากษ์วิจารณ์สังคม
๖. รักษาบรรทัดฐานของสังคม เพลงพื้นบ้านจะมีเนื้อหาสาระที่คอยย้ำเตือน สอนให้คนยึดมั่น อยู่ในจารีต ประเพณี แม้บางครั้งผูกเป็นเรื่องชิงรักหักสวาทก็ต้องมีการร้องให้เป็นคติสอนใจเสมอ
ขอบคุณที่มา : http://www.student.chula.ac.th/~49467529/puangmalai.htm
เพลงรำอีแซว หรือเพลงอีแซว
เพลงอีแซว เป็นเพลงพื้นบ้านประจำท้องถิ่นของ สุพรรณบุรี มีกำเนิดและแพร่หลายในเขตจังหวัดสุพรรณ บุรีและใกล้เคียง เพลงอีแซวมีความเป็นมาที่ยาวนาน มากกว่า ๑๐๐ ปี โดยในช่วงแรกๆ นั้นมีลักษณะเป็นเพลงปฏิพากย์ ( เพลงโต้ตอบ ) ที่ หนุ่มสาวใช้ร้องยั่วเย้า เกี้ยวพาราสีกันอย่างง่ายๆ สั้นๆ กระทั่งเมื่อ ๖๐ - ๗๐ ปีที่ผ่านมาจึงได้พัฒนาเป็นเพลงปฏิพากย์ยาวคือมีเนื้อเพลงที่ใช้ร้องในแต่ละครั้งยาวมากขึ้น พร้อมกับมีการดัดแปลงทำนองและลักษณะการร้องรับของลูกคู่ นอกจากนั้นยังได้มีการพัฒนาเสื้อผ้าของผู้แสดง โดยจะนุ่งโจงกระเบนทั้งฝ่ายชายและหญิง ส่วนเสื้อนั้น ฝ่ายหญิงจะใส่เสื้อแขนสั้นคอกลมหรือ คอเหลี่ยมกว้าง ฝ่ายชายมักจะ ใส่เสื้อแขนสั้นคอกลม สร้าง สรรค์ความสะดุดตาด้วยสี ที่ฉูดฉาดเพื่อดึงดูดใจผู้ชม
ด้วยความนิยมในเพลงอีแซวทำให้สามารถแสดงได้เกือบทุกสถานที่และทุกโอกาสเพียงแต่ จะไม่มีการแสดงในงานแต่งงาน
วงอีแซวจะไม่มีข้อกำหนดเรื่อง จำนวนผู้แสดง แต่ในวงหนึ่งๆ จะมีการจัดสรรตำแหน่งหน้าที่ ของผู้แสดงประกอบด้วย พ่อเพลง ( ผู้ร้องนำฝ่ายชาย ) แม่เพลง ( ผู้ร้องนำฝ่ายหญิง ) คอต้น ( ผู้ร้องเพลงโต้ตอบคนแรก ) คอสอง , คอสาม ( ผู้ร้องคนที่สองและ สาม ) และ ลูกคู่ ( จำนวนไม่จำกัด มีหน้าที่ร้องรับ ร้องซ้ำความ ร้องสอดแทรกขัดจังหวะ เพื่อความสนุกสนาน )
เพลงอีแซวมีจะดำเนินการแสดงโดยมีเนื้อหาเรียงลำดับ เริ่มต้นด้วยบทไหว้ครู บทเกริ่น บทประ และจบท้ายด้วยบทจาก หรือบทลา
๑ . บทไหว้ครู เป็นบทกราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และผู้มีพระคุณ ได้แก่ พระรัตนตรัย เทวดา ภูตผี พ่อแม่ ครูอาจารย์ ( ครูเพลงของอีแซวจะมีสองแบบ “ ครูเพลงที่เป็นจิตวิญญาณ ” เช่นพระนารายณ์ ฤาษีหรือพ่อแก่ และครูอีกประเภทคือ “ ครู เพลงที่เป็นมนุษย์ ” นอกจากครูเพลงทั้งสองแบบแล้ว ก็มี “ครู พักลักจำ” ซึ่งหมายถึงครูที่ผู้ร้องไม่ได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ แต่ได้ แอบจดจำเพลงหรือลีลา ) การร้องบทไหว้ครูจะต้องนั่งกับพื้นร้อง โดยมี “พาน กำนล” หรือพานไหว้ครูวางไว้ข้างหน้า หรือยกถือไว้ในขณะร้อง โดยพ่อเพลงจะร้องก่อน ตามด้วยแม่เพลง
๒ . บทเกริ่น เป็นบทร้องของฝ่ายชายและหญิงก่อนที่จะ มาพบกันตามเหตุการณ์ที่สมมุติไว้ บทเกริ่นเริ่มต้นภายหลังจาก บทไหว้ครูจบลง ผู้แสดงทั้งหมดจะลุกขึ้นยืนร้อง “เพลงออกตัว” มีเนื้อหาทักทายกัน แนะนำตัว ฝากตัวกับผู้ชม ตามด้วย “เพลง แต่งตัว” หากสมมุติเหตุการณ์เป็นการชักชวนกันไปเที่ยวบ้าน สาวๆ พอมาถึงบ้านฝ่ายหญิงแล้วจะร้อง “เพลงปลอบ” ซึ่งเป็น เพลงที่ชักชวนให้ฝ่ายหญิงออกมาร้องเพลงโต้ตอบกัน
๓ . เพลงประ หมายถึงการร้องปะทะคารมกันของทั้งสอง ฝ่าย เพลงประของวงอีแซวมีหลายแบบ ได้แก่ แนวรัก ( การเกี้ยว พาราสี ) แนวประลอง ( การทดสอบฝีปากหรือทดสอบภูมิปัญญา ) และแนวเพลงเรื่อง ( ดำเนินเรื่องราวตามเรื่องของ นิทาน นิยาย หรือวรรณกรรม )
๔ . บทจาก หรือ บทลา เป็นเพลงที่ใช้ร้องเพื่อ แสดงถึงความอาลัยคู่เล่นเพลง ผู้ชม หรือ กล่าวอำลาผู้ชม หรือเจ้าภาพผู้ว่าจ้างให้มาแสดง
๕ . การอวยพร เป็นการร้องขอบคุณเจ้าภาพ และ ผู้ชม รวมทั้งขอบคุณผู้ให้รางวัล
ขอบคุณที่มา : http://www.student.chula.ac.th/~49467529/esaew.htm
เพลงลิเก
เพลงลำตัด
ฯลฯ